วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

มงคลสูตรคำฉันท์


มงคลสูตรคำฉันท์ เป็นวรรณคดี คำสอน ผลงานพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงนำหลักธรรม ที่เป็นพระคาถาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้งแล้วแปลถอดความเป็นคำประพันธ์ที่ไพเราะ มีความงดงามทั้งด้านเสียงและความหมาย สามารถ

จดจำได้ง่าย มงคลสูตรคำฉันท์นี้จะเกิดแต่ตัวเราเองได้ก็ต้องเป็นผลมาจากการประพฤติ ปฏิบัติดีของตนเองเท่านั้น หาได้มาจากปัจจัยอื่นเลย

ผู้แต่ง  พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลักษณะคำประพันธ์
กาพย์ฉบัง 16 และอินทรวิเชียรฉันท์ 11 แทรกคาถาบาลี

จุดมุ่งหมายในการแต่งเพื่อให้ตระหนักว่าสิริมงคลจะเกิดแก่ผู้ใดก็เพียงผลมาจากการปฏิบัติของตนทั้งสิ้น
ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดจะทำให้เกิดสิริมงคลแก่เราได้  นอกจากตัวเราเอง

แนวคิดสำคัญความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของตนเองทั้งสิ้น หาได้เกิดจากผู้อื่น สิ่งอื่น หรือวัตถุโชคลางใดๆ จากภายนอก
มงคล หมายถึง เหตุทั้งหลายอันจะทำให้บรรลุถึงความเจริญแห่งสมบัติทั้งปวง เหตุแห่งความเจริญหรือทางก้าวหน้า มีทั้งหมด 38 ประการ
มงคลสูตร เป็นพระสูตรในขุททกนิกาย หมวดขุททกปาฐ พระธรรมเล็กๆน้อยๆ

คุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน1. ได้ทราบวิธีปฏิบัติตนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
2. มีคุณค่าทางด้านสังคม เพราะข้อปฏิบัติทุกข้อในมงคลสูตรล้วนมีค่าควรประพฤติปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้บุคคลและสังคมเจริญก้าวหน้า
3. ได้ศึกษาภาษากวีนิพนธ์ที่สละสลวย ไพเราะทั้งถ้อยคำและเนื้อความ

ค่านิยม
มงคลทั้ง 38 ประการ ล้วนเป็นค่านิยมทางพระพุทธศาสนา ค่านิยมสูงสุดทางพระพุทธศาสนาก็คือ นิพพาน การดับพร้อมไม่เกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป
ความเป็นมา
 เมื่อ พ.ศ. 2466 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนำมงคลสูตร
 มาทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทร้อยกรองประเภทคำฉันท์  โดยใช้คำประพันธ์ 2 ชนิด
 คือ  กาพย์ฉบัง 16 และอินทรวิเชียรฉันท์ 11 ทรงนำคาถาภาษาบาลีจากพระไตรปิฏกตั้ง
 แล้วแปลถอดความเป็นร้อยกรองภาษาไทย  ได้ถูกต้องตรงตามบังคับในฉันทลักษณ์
 โดยไม่เสียเนื้อความจากพระคาถาบาลี  การจัดวางลำดับของมงคลแต่ละข้อก็เป็นไปตาม
 ที่ปรากฏอยู่ในพระคาถาเดิม  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านภาษาได้อย่างดียิ่ง

เนื้อเรื่องย่อย 
พระอานนท์ เป็นผู้เล่าว่า พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวันวิหารซึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย ตอนปฐมยาม มีเทวดารัศมีเจิดจ้ามาเข้าเผ้าพระพุทธองค์ ทูลถามถึงเรื่องมงคลพระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาถึงมงคล ๓๘ ประการ เทวดาและมนุษย์ผู้ปฎิบัติตาม จะเป็นผู้ประเสริฐ ไม่แพ้ในที่ใดๆได้รับความเจริญสวัสดีทุกประการ

มงคล ๓๘ ประการ เทียบกับคำฉันท์ ได้ดังนี้
๑. ไม่คบคนพาล ----- หนึ่งคือ บ่ คบคนพาล จะพาประพฤติผิด
๒. คบบัณฑิต ----- หนึ่งคบกะบัณฑิต  เพราะจะพาประสบผล
๓. บูชาผู้ที่ควรบูชา ----- หนึ่งกราบก่อนบูชา  อภิปูชนีย์ชน
๔. อยู่ในประเทศอันสมควร ----- ความอยู่ประเทศซึ่ง  เหมาะและควรจะสุขี
๕. เคยทำบุญไว้กาลก่อน ----- อีกบุญญะการที่  ณ อดีตะมาดล
๖. ตั้งตนไว้ชอบ ----- อีกหมั่นประพฤติควร ณ สภาวะแห่งตน
๗. สดับตรับฟังมาก ----- ความได้สดับมาก และกำหนดสุวาที
๘. มีศิลปะ ----- อีกศิลปศาสตร์มี จะประกอบมนุญการ
๙. มีวินัย ----- อีกหนึ่งวินัยอัน นรเรียนและเชี่ยวชาญ
๑๐.มีวาจาเป็นสุภาษิต ----- อีกคำเพราะบรรสาน  ฤดิแห่งประชาชน
๑๑.บำรุงมารดาบิดา ----- บำรุงบิดามา-ตุระด้วยหทัยปรีย์
๑๒.สงเคราะห์บุตร ----- หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน
๑๓.สงเคราะห์ภรรยา ----- หากลูกและเมียมี  ก็ถนอมประหนึ่งตน
๑๔.การงานไม่คั่งค้างอากูล ----- การงานกระทำไป บ่มิยุ่งและสับสน
๑๕.ให้ทาน ----- ให้ทาน ณ กาลควร
๑๖.ประพฤติธรรม ----- และประพฤติ  สุธรรมศรี
๑๗.สงเคราะห์ญาติ ----- อีกสงเคราะห์ญาติ  ที่ปฏิบัติบำเรอตน
๑๘.ประกอบการงานไม่มีโทษ ----- กอบกรรมะอันไร้  ทุษกลั้วและมัวมล
๑๙.เว้นจากบาป ----- ความงดประพฤติบาป  อกุศลบ่ให้มี
๒๐.สำรวมจากการดื่มน้ำเมา ----- สำรวมวรินทรีย์  และสุราบ่เมามล
๒๑.ไม่ประมาทในธรรม ----- ความไม่ประมาท  ในพหุธรรมะโกศล
๒๒.เคารพ ----- เคารพ ณ ผู้ควร  จะประณตและนอบศีร์
๒๓.สงบเสงี่ยมเจียมตัว ----- อีกหนึ่งมิได้มี  จะกระด้างและจองหอง
๒๔.ยินดีด้วยของของตน(สันโดษ) ----- ยินดี ณ ของตน  บ่มิโลภทะยานปอง
๒๕.รู้คุณท่าน ----- อีกรู้คุณาของ นรผู้ประคองตน
๒๖.ฟังธรรมตามกาล ----- ฟังธรรมะโดยกา-ละเจริญคุณานนท์
๒๗.อดทน ----- มีจิตตะอดทน และสถิต ณ ขันตี
๒๘.ว่าง่าย ----- อีกนัยหนึ่งบ่พึงมี ฤดิดื้อทะนงหาญ
๒๙.เห็นสมณะ ----- หนึ่งเห็นคณาเลิศ สมณาวราจารย์
๓๐.สนทนาธรรมตามกาล ----- กล่าวธรรมะโดยกาล  วรกิจจะโกศล
๓๑.บำเพ็ญตบะ (ความเพียร) ----- เพียรเผากิเลสล้าง  มละโทษะยายี
๓๒. ประพฤติพรหมจรรย์ ----- อีกหนึ่งประพฤติดี  ดุจะพรหมพิสุทธิ์สรรพ์
๓๓.เห็นอริยสัจ ----- เห็นแจ้ง ณ สี่องค์  พระอรียสัจอัน
๓๔.ทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ----- อีกทำพระนิพพา-  นะประจักษะแก่ตน
๓๕.จิตไม่หวั่นไหวเมื่อต้องโลกธรรม ----- จิตใครผิได้ต้อง วรโลกะธรรมศรี
๓๖.จิตไม่เศร้าโศก ----- ไร้โศกธุลีสูญ
๓๗.จิตปราศจากธุลี ----- ไร้โศกธุลีสูญ
๓๘.จิตเกษม(ปลอดโปร่งจากกิเลส) ----- และสบายบ่มัวมล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น