ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน
ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 41
พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิต
และความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก
เรื่องย่อ
เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาเท่าที่ควร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอความทุกข์ยากของชาวนา และทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
คุณค่าด้านเนื้อหา
กลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน คือ
ส่วนนำ กล่าวถึงบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
เนื้อเรื่อง วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และองหลี่เชิน โดยทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ เช่น "...ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก" กับใคร ๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน..."
ส่วนสรุป สรุปความเพียงสั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้ ดังความที่ว่า "ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป..."
สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน ว่า "เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง"
บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน คือ แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามแนวคิดของกวีทั้งสองคนคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยต้องประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น